วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2562

ดอกไม้ประจำชาติกายอานา ดอกบัววิกตอเรีย

ดอกไม้ประจำชาติกายอานา

 ดอกบัววิกตอเรีย


    สวัสดีค่ะเราจะพาทุกคนไปรู้จักกับดอกบัววิกตอเรียเป็นดอกไม้ประจำชาติกายอานาไปดูกันเลยค่ะ

ชื่อวิทยาศาสตร์: Victoria Amazonica
ชื่อสามัญ: Victoria
ชื่อวงศ์: Nympheaceae
ชื่ออื่นๆ: Amazon Water Lily, Royal Water Lily, บัววิกตอเรีย, บัวกระด้ง


 บัวกระด้ง หรือเรียก บัววิคตอเรีย เป็นพืชน้ำล้มลุกหลายฤดูที่มีขนาดใหญ่กว่าบัวทุกชนิด มีถิ่นกำเนิดมากจากอเมริกาใต้ มีลำต้นเป็นหัวอยู่ในดินใต้น้ำ มีรากอวบขาวที่ช่วยยึดพื้นดินไว้มากมาย ก้านใบมีหนามและยาวโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำรองรับใบเอาไว้ เหตุที่เรียกว่า บัวกระด้ง เพราะใบมีลักษณะเป็นรูปวงกลม มีความกว้างประมาณ 1-2 เมตร ส่วนของขอบใบจะยกตั้งขึ้นประมาณ 2-4 นิ้ว เหมือนกระด้ง ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกันแบบถี่ๆ ด้านบนใบเมื่อยังอ่อนอยู่จะเป็นสีน้ำตาล เมื่อแก่จะมีสีเขียวสด ใบด้านล่างมีสีน้ำตาลแดง และมีหนามอยู่ทั่วตั้งแต่ส่วนที่พับเป็นขอบจนถึงส่วนที่อยู่ในน้ำ  ดอก มักออกเป็นดอกเดี่ยวๆ เมื่อเริ่มมีดอกให้เห็นในช่วงแรกๆ จะเป็นสีขาว ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู ชมพูเข้ม หรือสีม่วงแดง ตามระยะเวลา มีกลีบดอกเรียงซ้อนกันจำนวนมาก ดอกที่บานแล้วจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 20-30 ซม. กาบหุ้มดอกด้านนอกจะมีหนาม ชูดอกให้บานอยู่ด้านบน ดอกบัวชนิดนี้จะมีกลิ่นหอมแรงในช่วงกลางคืน ในช่วงพลบค่ำจนถึงเช้าดอกมักจะบานให้เห็น สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ฝักหรือผลของบัวชนิดนี้ มีรูปร่างค่อนข้างกลม มีหนาม เปลือกหนา ภายในฝักบัวจะมีเมล็ดขนาดประมาณ 0.5-1 ซม. รูปทรงกลม ผิวเรียบเป็นมัน เมล็ดจะมีสีขาวเมื่อยังอ่อน แล้วจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียว จนกลายเป็นสีดำเมื่อแก่จัด

การปลูกบัวกระด้งหรือบัววิคตอเรียสามารถทำได้ 4 วิธี คือ
1. การเพาะขยายพันธุ์บนบกด้วยกระถาง
ใช้กระถางพลาสติกหรือกระถางดินเผาที่ไม่มีรู มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 เซนติเมตร นำปุ๋ยคอกผสมดินปลูกที่ได้จากก้นบ่อธรรมชาติใส่ลงไปประมาณ ¾ ของกระถางปลูก จากนั้นก็ใส่น้ำให้เต็มล้นกระถาง โรยเมล็ดลงไปประมาณ 3-5 เมล็ด แล้วนำไปวางไว้ใต้ต้นไม้ที่มีแสงแดดรำไร ควรให้น้ำที่สะอาดเติมให้เต็มกระถางอยู่ตลอดเวลา ไม่ควรให้ปุ๋ยคอกมากเกินไป เก็บใบไม้ที่ร่วงทับถมเน่าเสียออกเสมอ เมื่อเมล็ดงอกขึ้นมามากกว่า 1 เมล็ดให้แยกปลูกในกระถางใหม่หรือกำจัดทิ้งเสีย และเมื่อเมล็ดแทงใบพ้นน้ำก็ให้รีบนำลงปลูกในบ่อทันที การย้ายปลูกทำได้โดยการทุบกระถางใต้น้ำ หรือนำต้นอ่อนออกจากกระถางใต้น้ำ
2. การเพาะขยายพันธุ์ในน้ำด้วยกระถาง
เป็นการวางกระถางขนาดเท่ากับวิธีแรกไว้ที่ก้นบ่อ วิธีนี้จะเหมาะกับแหล่งน้ำหรือบ่อดินที่มีความลึกไม่เกิน 1 เมตร โดยขุดดินก้นบ่อให้ลึกประมาณ ¾ ของกระถางก่อนวางลงไป และวางเมล็ดในกระถางให้มีระยะห่างพอควรประมาณ 3-5 เมล็ด การปลูกด้วยวิธีนี้ควรดูแลไม่ให้น้ำในบ่อเน่าเสีย น้ำที่ใสจะทำให้สังเกตการงอกของเมล็ดได้ง่าย แต่อาจใช้วิธีสัมผัสแทนก็ได้ถ้าน้ำขุ่นมาก การย้ายปลูกควรทำทันทีเมื่อเมล็ดงอกจนมีลำต้นสูงเหนือกระถาง หากยังไม่ได้ปลูกทันทีควรมีถังพลาสติกใส่น้ำเพื่อรองรับกระถางที่ย้ายขึ้นมาด้วยก่อนนำไปปลูก
3. การแยกต้นอ่อน
วิธีการนี้จะใช้ได้ผลดี หากบ่อดินมีลักษณะตื้น และน้ำใสมองเห็นก้นบ่อ ทำได้โดยการหาต้นอ่อนใต้น้ำ และย้ายปลูกไปยังบ่ออื่นทันที
4. การหว่านเมล็ด
วิธีนี้จะง่ายและประหยัดที่สุด และนิยมใช้กันมากที่สุด แต่ต้องมีแหล่งน้ำหรือบ่อดินที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของบัว ทำได้ด้วยการนำเมล็ดแก่มาหว่านในบ่อจำนวน 3 เมล็ดต่อระยะห่าง 5-10 เมตร
โดยทั่วไปแล้ว บัวกระด้งจะใช้วิธีขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดเท่านั้น เพราะมีเพียงหัวเดียว ไม่มีการแตกหัว หรือแยกเหง้าเหมือนบัวสายพันธุ์อื่น และส่วนใหญ่มักขยายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติด้วยเมล็ดแก่ที่หล่นลงไปในน้ำ สำหรับเมล็ดที่ใช้ในการขยายพันธุ์ควรเป็นเมล็ดแก่สีน้ำตาลดำ ได้จากต้นบัวที่มีความแข็งแรง และมีลักษณะเด่นตามที่ต้องการ มีความทนทานปลูกเลี้ยงง่าย สามารถทนแดดทนฝนได้ดี ควรปลูกในบ่อกว้างๆ และไม่ควรมีพรรณไม้หรือวัชพืชอื่นขึ้นปะปน สภาพดินที่ใช้ปลูกบัวกระด้งต้องไม่มีความเป็นกรด ในน้ำควรมีออกซิเจนไม่ต่ำกว่า 4 มิลลิกรัม/ลิตร และมีออกซิเจนที่จุลินทรีย์ใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/ลิตร ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการเจริญเติบโตของบัว


บัวกระด้ง เป็นบัวที่ไม่สามารถปลูกในกระถางได้เพราะมีขนาดใบที่ใหญ่ จึงเหมาะที่จะปลูกเป็นไม้ประดับไว้ในอ่างหรือสระน้ำ การขยายพันธุ์ก็ทำได้ค่อนข้างยาก จึงมักพบบัวชนิดนี้ได้ในหนองน้ำที่มีขนาดใหญ่ ส่วนเมล็ดก็นำมาทำเป็นอาหารต่างๆ ได้
การใช้พื้นที่อย่างมากในการปลูกบัวกระด้ง ทำให้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมของตลาดมากนัก และยังเพาะพันธุ์ได้ยาก อาจเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมากกว่าการปลูกบัวชนิดอื่นๆ ในการหาพื้นที่กว้างๆ หรือขุดบ่อขนาดใหญ่เพื่อปลูก แต่สำหรับธุรกิจการจัดสวน สนามกอล์ฟ และสำหรับคนที่มีฐานะร่ำรวย ก็ยังให้ความสำคัญของบัวชนิดนี้อยู่


ดอกไม้ประจำชาติปานามา ดอกกล้วยไม้ Peristeria elata

ดอกไม้ประจำชาติปานามา
ดอกกล้วยไม้ Peristeria elata

    สวัสดีค่ะวันนี้จะมาเเนะนำให้ทุกคนรู้จักกับดอกไม้ประจำชาติปานามาไปดูกันเลยค่ะ

    Peristeria elata มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาและอเมริกาใต้เขตร้อน เป็นกล้วยไม้ดินพันธุ์แท้จากประเทศปานามา จัดอยู่ในสกุล เพอ ริส ที เรีย (Peristeria) มีสมาชิกในสกุลประมาณ 10 ชนิด บางชนิดก็เป็นแบบขึ้นอิงอาศัยบนต้นไม้อื่น ดอกมีกลิ่นหอม บริเวณกลางดอกจะมีลักษณะคล้ายนกกำลังบิน ซึ่งบางครั้งก็ถูกเรียกว่า กล้วยไม้นกพิราบ

ดอกไม้ชนิดนี้มักพบในพื้นที่ที่มีระดับต่ำกว่าน้ำทะเลตั้งแต่ 100-700 เมตร ลักษณะของดอกมีรูปทรงกลม ขนาดประมาณ 1 ½ นิ้ว กลีบดอกสีขาว หนาเป็นมัน กลีบปากด้านในจะมีจุดสีน้ำตาลแดงแต้มอยู่หลายจุด ดอกมีกลิ่นหอมแรงคล้ายรสมิ้นท์ตลอดทั้งวัน มักออกดอกให้เห็นในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนมิถุนายน-กันยายน เพียงปีละครั้ง ก้านช่อดอกอาจมีความยาวถึง 1 เมตร ดอกจะทยอยบานเป็นชุดๆ ละ 3-5 ดอก โดยใน 1 ก้านจะมีดอกทยอยกันบานได้มากถึง 15-20 ดอก ซึ่งอาจใช้เวลาถึง 2 เดือนจนกว่าจะบานสุดช่อและขึ้นอยู่กับอุณหภูมิในที่นั้นด้วย ลำต้นของกล้วยไม้ชนิดนี้เมื่อโตเต็มที่จะมีหัวสะสมอาหารสีเขียวเข้มขนาดใหญ่ ใบคล้ายกับกล้วยไม้เอื้องพร้าว มักนิยมปลูกไว้เป็นไม้ประดับ


กล้วยไม้ชนิดนี้สามารถเลี้ยงดูได้ง่าย ชอบอากาศร้อน มีแสงรำไรปานกลาง มีความชื้นพอควร มีอากาศถ่ายเทสะดวก สำหรับในประเทศไทยสามารถปลูกได้ทุกภูมิภาค กล้วยไม้ชนิดนี้จะสามารถสร้างลำต้นใหม่ได้ดีและมีหัวใหญ่กว่าเดิม และเติบโตเร็วมาก ถ้ามีการดูแลที่เหมาะสม
วัสดุที่ใช้ปลูกควรให้มีการระบายน้ำที่ดี เช่น กาบมะพร้าวสับ หรือจะผสมกับถ่านทุบ เศษอิฐที่หัก เศษกระถางแตกก็ได้ เมื่อกล้วยไม้เริ่มแทงยอดออกมาใหม่ ไม่ควรรดน้ำให้โดนยอดเพราะอาจมีน้ำเข้าไปขังทำให้เกิดการเน่าได้ ควรรดเฉพาะที่โคนต้น และควรยกกระถางเข้าที่ร่มเมื่อถึงหน้าฝนเพื่อป้องกันความเสียหายเช่นกัน



ดอกไม้ประจำชาติเปอร์โตริโก ดอกชบา

ดอกไม้ประจำชาติเปอร์โตริโก
ดอกชบา


    สวัสดีค่ะเราจะพาทุกคนมารู้จักกับดอกชบาซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติเปอร์โตริโกไปดูกันเลยค่ะ

ชื่อสามัญ: Shoe Flower, Hibiscus, Chinese rose
ชื่อวิทยาศาสตร์: Hibiscus rosa-sinensis L.
ชื่อวงศ์: MALVACEAE
ชื่ออื่นๆ: ชุมเบา (ปัตตานี), ใหม่ ใหม่แดง (ภาคเหนือ), บา (ภาคใต้)


ชบา มีต้นกำเนิดในประเทศจีน อินเดีย และในหมู่เกาะฮาวาย เป็นไม้ยืนต้นเนื้ออ่อนทรงพุ่ม ลำต้นสูงประมาณ 2.5 เมตร ใบมีลักษณะมนรี ปลายใบแหลม ขอบใบจัก ยาว ประมาณ 7-10 ซม. มีสีเขียวเข้ม ใบจะมีลักษณะเป็นเมือกเหนียวเมื่อนำมาขยี้ ลักษณะของดอกหากเป็นดอกชั้นเดียวจะมี 5 กลีบ แต่จะมีหลายกลีบถ้าเป็นชนิดกลีบซ้อน กลีบดอกชบาจะมีขนาดใหญ่ หลากหลายสีสัน เช่น สีขาว แดง แสด เหลือง ม่วง ชมพู เป็นต้น บริเวณกลางดอกจะมีก้านเกสรอยู่ 1 ก้าน ดอกชบาอาจมีทั้งแบบที่บานเป็นรูปถ้วย บานแผ่แบน หรือบานแผ่เป็นรูปโค้ง
การขยายพันธุ์ชบา ทำได้ด้วยการปักชำ การติดตา และการเสียบยอด
ต้นชบาสามารถปลูกได้ง่าย มีความแข็งแรงทนทาน ไม่ต้องยุ่งยากกับเรื่องเรือนเพาะชำหรือโรงเรือน ส่วนใหญ่มักนิยมปลูกไว้เป็นไม้ประดับตามแนวรั้วบ้าน ชบาสามารถออกดอกให้ชมได้ตลอดทั้งปี ชบาที่นิยมกันในปัจจุบันมักเป็นพันธุ์ผสมจากต่างประเทศ ที่กลีบดอกมีขนาดใหญ่และเป็นดอกชั้นเดียว มีสีสันสวยสดงดงาม และยังมีพันธุ์อื่นๆ อีกมากมาย



ประโยชน์ของชบา
ชบามีสรรพคุณทางยาไทย เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้บำบัดรักษาโรคมาช้านาน การใช้รากชบาสดๆ มาตำเพื่อพอกฝี แก้ฟกบวม ถอนพิษร้อน ตามตำรายาจะกำหนดให้ใช้รากของชบาดอกสีขาวหรือสีแดง หากต้องการให้เจริญอาหารก็ให้นำมาต้มน้ำดื่ม ดอกชบาจะให้สีดำเมื่อนำมาย้อมผม ขนตา หรือทารองเท้า ส่วนเปลือกของลำต้นก็ยังนำมาทำเป็นเชือกหรือทอเป็นกระสอบไว้ใช้สอยได้
ในสมัยโบราณ มักจะใช้ดอกชบาทัดหูทั้ง 2 ข้าง และร้อยดอกชบาแดงเป็นมาลัยใส่ศีรษะและใส่คอของหญิงแพศยาก่อนที่จะลงโทษ จึงทำให้มีอคติและไม่นิยมปลูกดอกชบากัน แต่สำหรับในต่างประเทศแล้ว ความสวยงามของดอกไม้ชนิดนี้ได้รับการยกย่องให้เป็น ราชินีแห่งดอกไม้เมืองร้อน ซึ่งมีหลายๆ ประเทศได้จัดให้เป็นดอกไม้ประจำชาติกันเลยทีเดียว เช่น มาเลเซีย จาไมก้า และรัฐฮาวาย
ปัจจุบันนี้คนรุ่นใหม่เริ่มหันมานิยมปลูกชบากัน เพราะได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีลักษณะดอกและสีสันที่สวยงามสะดุดตามากยิ่งขึ้น ซึ่งความสวยงามของดอกไม้ชนิดนี้ก็ไม่แพ้ดอกไม้ชนิดอื่นเลยทีเดียว



ที่มา:https://www.vichakaset.com/%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%89%e0%b8%82%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b9%82%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b9%82%e0%b8%81/

ดอกไม้ประจำชาติเวลส์ ดอกแดฟโฟดิล(Daffodil)

ดอกไม้ประจำชาติเวลส์
ดอกแดฟโฟดิล(Daffodil)


     สวัสดีค่ะเราจะพาทุกคนมารู้จักกับดอกเเดฟโฟดิลไปดูกันเลยค้ะ
ชื่อสามัญ: Wild Daffodil, Narcissus.
ชื่อวิทยาศาสตร์: Narcissus Poeticus L.
วงศ์ :AMARYLLIDACEAE.


    มีตำนานของกรีกเล่าว่า มีหนุ่มรูปงาม ที่ทรนงและหลงใหลในความงดงามของตนเองชื่อว่า นาร์ซิสซัส(Narcissus) แม้จะมีเทพมากมายมาหลงรักแต่เขาก็ไม่เคยสนใจใยดี จึงทำให้ แอฟโฟได เทพแห่งความรักเกิดความไม่พอใจมาก และสาปให้นาร์ซิสซัสรักตัวเอง เมื่อนาร์ซิสซัสได้เห็นเงาตัวเองในสระน้ำ ก็ไม่กินไม่นอนจนร่างกายซูบผอม เพราะเกิดหลงรักรูปงามของตัวเองขึ้นมา และไม่อาจทนทุกข์ทรมานจากความรักนี้ได้จึงต้องฆ่าตัวตายในที่สุด เทพแห่งความรักเห็นเช่นนี้ก็เกิดความสงสาร จึงเนรมิตบริเวณที่นาร์ซิสซัสตายให้กลายเป็นดอกไม้ ที่มีชื่อว่า แดฟโฟดิล หรือต้นนาร์ซิสซัส


ดอกแดฟโฟดิลมีอยู่มากมายหลายสี เช่น สีเหลือง สีขาว สีชมพู ดอกไม้ในกลุ่มแดฟโฟดิล จะมีอยู่ประมาณ 25 ชนิด และมีพันธ์ลูกผสมประมาณ 1300 ชนิด ดอกแดฟโฟดิลมักจะบานให้เห็นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ในแต่ละชนิดจะออกดอกไม่พร้อมกัน มีลำต้นสูงประมาณ 6-20 นิ้ว มีหัวใต้ดินเพื่อสะสมอาหาร

ดอกแดฟโฟดิลจะมีกลิ่นหอมทุกสายพันธุ์ แต่ชนิดที่มีดอกสีเหลืองจะหอมมากที่สุด
แต่ละชนิดจะออกดอกไม่พร้อมกัน ยางจากต้นแดฟโฟดิลจะมีความเป็นพิษอยู่ จึงควรแช่ก้านดอกไม้ชนิดนี้ไว้ในน้ำอุ่น 1 คืน เพื่อให้พิษสลายไป ก่อนนำไปจัดเป็นช่อ ส่วนสารสกัดที่ได้จากดอกแดฟโฟดิล จะมีฤทธิ์ช่วยป้องกันการเกิดริ้วรอยบนผิวหน้า ทำให้ผิวดูอ่อนกว่าวัย



ที่มา:https://www.vichakaset.com/%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%89%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%88%e0%b8%b3%e0%b8%8a%e0%b8%b2%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b8%a5%e0%b8%aa%e0%b9%8c/

วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2562

ดอกไม้ประจำชาติจาเมกา เเก้วเจ้าจอม ‘Lignum Vitae’

ดอกไม้ประจำชาติจาเมกา 
เเก้วเจ้าจอม‘Lignum Vitae
    สวัสดีค่ะวันนี้จะพาทุกคนมารู้จักกับดอกไม้ประจำชาติของจาเมกานั้นก็คือดอกแก้วเจ้าจอมไปดูกันเลยค่ะ


แก้วเจ้าจอม
‘Lignum Vitae’ มาจากภาษาลาติน ซึ่งแปลว่า “ไม้แห่งชีวิต”
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Guaiacum officinale L.
ชื่อสามัญ Lignum Vitae
ชื่อวงศ์ Zygophyllaceae ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์ของ โคกกระสุน
ชื่ออื่นๆ น้ำอบฝรั่ง

แก้วเจ้าจอม  
   ได้ถูกจัดลำดับเป็นพันธุ์พืชอนุรักษ์ในบัญชี 2 ภายใต้พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2525 กรมส่งเสริมการเกษตร
แก้วเจ้าจอมเป็นพันธุ์ไม้ใกล้สูญพันธุ์ หายาก เติบโตได้ช้า ได้ถูกจัดเป็นพันธุ์พืชอนุรักษ์ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในหมู่เกาะอินดีสอินดีสตะวันออก เมื่อปี พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำต้นพันธุ์มาจากประเทศอินโดนีเซีย และทรงปลูกไว้ที่พระราชอุทยานสวนสุนันทา ชาววังเรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่า“ ต้นน้ำอบฝรั่ง ” ต่อมาก็ได้ชื่อใหม่ว่า “แก้วจุลจอม” โดยการประทานมาจาก พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราช ปดิวรัดา และต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2501 ศาสตราจารย์เต็ม สมิตินันทน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ ก็ได้ตั้งชื่อขึ้นมาใหม่ว่า “แก้วเจ้าจอม” ซึ่งใช้เรียกกันจนมาถึงปัจจุบัน
ไม้ดอกสีสวยอย่างแก้วเจ้าจอม เหมาะที่จะปลูกไว้เป็นไม้ประดับ และมีทรงพุ่มทรงกลมสวยงามตามธรรมชาติตลอดทั้งปีโดยที่ไม่ต้องตัดแต่ง เรือนยอดมีลักษณะทึบ เปลือกต้นมีสีเทาเข้ม กิ่งก้านมักเป็นปุ่มปม แก้วเจ้าจอม เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดใหญ่ ลักษณะของลำต้นมักคดงอ มีความสูงประมาณ 10-15 เมตร เนื้อไม้ภายในมีลักษณะแข็ง

ลักษณะของใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกแบบตรงกันข้าม ใบย่อยรูปรีหรือรูปไข่กลับ มีขนาดเล็ก กว้างประมาณ 1-2.5 ซม. ยาวประมาณ 1.5-2.5 ซม. โคนใบสอบ ปลายใบมน ขนาดของแต่ละใบอาจไม่เท่ากัน ซึ่งมีทั้งพันธุ์ที่ใบย่อยมี 2 คู่ และ 3 คู่
ดอก เมื่อบานแรกๆ จะมีสีฟ้าอมม่วง ต่อมาจะซีดลงจนกลายเป็นสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลางดอกมีขนาดประมาณ 2-2.5 ซม. กลีบดอกมี 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้สีเหลืองประมาณ 8–10 เส้น ดอกมักออกกระจุกเป็นช่อ หรือออกเดี่ยวๆ ตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง มักผลิดอกให้เห็นราวๆ เดือนสิงหาคม-ตุลาคม และ เดือนธันวาคม-เมษายน ปีละ 2 ครั้ง ดอกส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ หลังจากที่ดอกบานแล้วจะมีอายุอยู่ได้นาน 3-5 วัน แล้วจึงร่วงไป
ผลมีสีเหลืองหรือสีส้ม มีขนาดประมาณ 1.5 ซม. รูปร่างกลมแบน หรือเป็นรูปหัวใจขนาด 1-2 ซ.ม. เปลือกผลแข็ง ที่ 2 ข้างผลมีลักษณะเป็นครีบ ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้ม รูปทรงกลมรี หรือรูปไข่ประมาณ 1-2 เมล็ด
การขยายพันธุ์ มักนิยมใช้วิธีการตอนกิ่ง และการเพาะเมล็ด
แก้วเจ้าจอม เป็นพันธุ์ไม้ที่ขึ้นได้ดีในดินแทบทุกสภาพ แต่สำหรับดินที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตต้องเป็นดินที่มีการระบายน้ำได้ดี มีธาตุอาหารครบถ้วน สถานที่ปลูกควรมีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน ควรได้รับการให้น้ำในปริมาณปานกลางอย่างสม่ำเสมอ อุณหภูมิและความชื้นจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการผลิดอกของต้นไม้ชนิดนี้ด้วย ซึ่งอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20-30 องศาเซลเซียส หรือเป็นพื้นที่ที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200-1,800 มิลลิเมตร มีฝนตกกระจายหลายๆ เดือน และมีแดดส่องเพียงพอตลอดปี
เนื้อไม้ของแก้วเจ้าจอมจะทนต่อสภาพดินเค็ม แก่นไม้มีสีน้ำตาลอมเขียวไปจนถึงดำ ส่วนของกระพี้ไม้มีลักษณะเป็นมันสีเหลือง และแข็งแรงมาก จึงมักถูกนำมาใช้ทำเป็นของใช้ต่างๆ เช่น ทำสิ่ว ทำกรอบประกับเพลาเรือเดินทะเล ทำรอก ทำลูกโบว์ลิ่ง เป็นต้น

ทุกส่วนของลำต้นแก้วเจ้าจอม สามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรเพื่อรักษาโรคต่างๆ ได้มากมาย เช่นโรครูมาติซัมเรื้อรัง โรคไขข้ออักเสบ ปวดประจำเดือน โรคหอบหืด โรคเบาหวาน โรคเกาต์ ใช้เป็นยาขับเสมหะ ขับปัสสาวะ ขับเหงื่อ แก้ข้ออักเสบ ใช้เป็นยาระบาย หรือทำเป็นยาอมแก้หลอดลมอักเสบ น้ำคั้นที่ได้จากใบ ใช้กินแก้อาการท้องเฟ้อ หรือจะใช้ดอกแห้งชงเป็นชาดื่มเพื่อบำรุงกำลัง


ดอกไม้ประจำชาติฮอนดูรัส กล้วยไม้พันธุ์ Rhyncholaelia

ดอกไม้ประจำชาติฮอนดูรัส
 กล้วยไม้พันธุ์ Rhyncholaelia
                
      สวัสดีค่ะวันนี้จะพาทุกคนมารู้จักกับดอกไม้ประจำชาติของดูรัสนั้นก็คือดอกกล้วยไม้สายพันธุ์​ไปดูกันเลยค่ะ
กล้วยไม้สายพันธุ์ Rhyncholaelia
   เดิมถูกจัดอยู่ในสกุล Brassavola กล้วยไม้ชนิดนี้เป็นพันธุ์แท้จากอเมริกาใต้ และมีอยู่แค่ 2 ชนิดที่อยู่ในสกุลนี้คือ digbyana และ glauca
ลักษณะใบของกล้วยไม้ชนิดนี้จะแข็ง และมีผงสีขาวคล้ายแป้งปกคลุมอยู่ทั่วบริเวณผิวใบ
กล้วยไม้ชนิด Rhync. digbyana จะมีสีเขียวครีมอมแดง บริเวณปากจะเป็นเส้นฝอยๆ ในแต่ละช่อจะให้ดอกประมาณ 1-2 ดอก ความกว้างของดอกอยู่ที่ 4-5 นิ้ว ความยาวของลำต้นตลอดไปถึงใบมีประมาณ 10 นิ้ว ด้านหลังใบเป็นสีแดงเลือดหมู มักออกดอกให้เห็นในช่วงหน้าร้อน แคทลียาลูกผสมที่ให้ดอกสีเขียวส่วนใหญ่แล้วจะมีการพัฒนาสายพันธุ์มากจากกล้วยไม้พันธุ์นี้

สำหรับ กล้วยไม้ชนิด Rhync. glauca มักจะให้ดอกยาก แต่บางต้นก็อาจออกดอกให้เห็นได้ง่ายๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละต้น ความยาวของลำต้นไปจนถึงใบมีประมาณ 4-5 นิ้ว ใน 1 ก้านช่อมักออกเป็นดอกเดี่ยวๆ มีขนาดของดอกประมาณ 3-4 นิ้ว มีทั้งที่เป็นสีขาวครีม หรือสีเขียวครีมอมแดง มักออกดอกให้เห็นในช่วงหน้าร้อน

กล้วยไม้ทั้งสองชนิดนี้มักปลูกเจริญได้ดีในที่แบบแห้งๆ เครื่องปลูกที่ใช้ไม่ควรให้อุ้มน้ำมากนัก เพราะหากมีความชื้นแฉะมากก็จะทำให้เน่าเสียหายได้ โดยทั่วไปมักนิยมปลูกให้ติดอยู่กับขอนไม้


ดอกไม้ประจำชาติคิวบา ดอกมหาหงส์

ดอกไม้ประจำชาติของคิวบา 
ดอกมหาหงส์



     สวัสดีค่ะวันนี้จะพาไปรู้จักกับดอกไม้ประจะชาติคิวบาหลายคนคงรู้จักดอกไม้ต่างๆเเต่ดอกไม้นี้มีชื่อว่าดอกดอกดอกมหาหงส์เป็นดอกไม้ประจำชาติคิวบาไปดูกันเลยค่ะ


มหาหงส์
ชื่อสามัญ Butterfly lily, Garland flower, Ginger lily, White ginger
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hedychium coronarium J.Koenig
ชื่อวงศ์ ZINGIBERACEAE
ชื่ออื่นๆ เลเป ลันเต ตาห่าน เหินแก้ว เหินคำ ว่านกระชายเห็น สะเลเต กระทายเหิน หางหงส์ ตาเหิน เฮวคำ
     มหาหงส์ มีถิ่นกำเนิดมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้ดอกที่มีสีขาวบริสุทธิ์ และมีกลิ่นหอม ลักษณะของดอกไม้ชนิดนี้ เมื่อมองดูจะเห็นว่าคล้ายกับหงส์ที่กำลังเหินเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่มาของชื่อนี้

มหาหงส์ เป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าหรือหัวคล้ายขิง ลำต้นใต้ดิน ส่วนของก้านใบจะโผล่ขึ้นมาเหนือดินเช่นเดียวกับกล้วย และมีความยาวมาก ส่วนของกาบใบที่พ้นดินขึ้นมาจะดูเหมือนเป็นลำต้น ซึ่งอาจสูงถึง 2 เมตร และจะมีใบเดี่ยวออกสลับแบบตรงกันข้ามในแนวเดียวกันเมื่อมีความสมบูรณ์เต็มที่แล้ว ลักษณะเส้นใบก็จะขนานกันไป
ดอกมักออกเป็นช่อๆ ละประมาณ 3-6 ดอก บริเวณปลายยอด กลีบดอกมีสีขาว หรืออาจมีสีเหลืองแซม จำนวน 3 กลีบ ดอกในช่อหนึ่งๆ จะทยอยกันบานซึ่งจะไม่บานพร้อมกันทีเดียว สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ดอกไม้ชนิดนี้เป็นที่นิยมปลูกกันมาก เพราะเมื่อถึงเวลาเย็นก็จะเริ่มส่งกลิ่นหอมไปทั่ว

การขยายพันธุ์ มหาหงส์ วิธีที่นิยมทำกันก็คือ การแยกหน่อ เช่นเดียวกับพืชพวกขิง ข่า หรือพุทธรักษา
มหาหงส์จะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินที่มีความชื้นแฉะ หรือมีน้ำขัง แต่ถ้าต้องการปลูกในกระถางหรือในสภาพดินที่มีความแห้งแล้งก็ควรจะต้องให้น้ำมากเป็นพิเศษ

มหาหงส์มีสรรพคุณทางยาโบราณมากมาย เช่น ใช้เพื่อบำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย แก้อักเสบ ช่วยย่อยอาหาร ลดความดัน และบรรเทาอาการหอบหืด เป็นต้น




ดอกไม้ประจำชาติคอสตาริกา ดอกกล้วยไม้(Guarianthe skinneri)

ดอกไม้ประจำชาติคอสตาริกา  ดอกกล้วยไม้(Guarianthe skinneri)

    สวัสดีค่ะเราจะพาทุกคนไปรู้จักกับดอกล้วยไม้(Guarianthe skinneri)ไปดูกันเลยค่ะ.





    แม้ว่าคอสตาริกาจะมีพื้นที่แคบๆ แต่ก็เป็นประเทศที่มีกล้วยไม้หนาแน่นที่สุดในโลก กล้วยไม้พันธุ์ต่างๆ ที่มีอยู่กว่า 1,400 ชนิด ล้วนมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศนี้ทั้งนั้น และอาจมีอีกหลายชนิดที่ยังไม่ถูกค้นพบก็เป็นได้ คอสตาริกามีความชื้นในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันหลายระดับ เนื่องจากอิทธิพลของอากาศที่อบอุ่นจากทะเลแคริบเบียนและมหาสมุทรแปซิฟิก มีทั้งป่าดิบเขาที่มีเมฆปกคลุม จึงทำให้กล้วยไม้หลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี ส่วนกล้วยไม้ชนิดที่ใกล้จะสูญพันธุ์ก็ได้พยายามอนุรักษ์เอาไว้ การเลี้ยงดูกล้วยไม้ทำได้ไม่ยาก ปัจจุบันจึงนิยมปลูกเลี้ยงกันไว้เป็นงานอดิเรก



ดอกไม้ประจำชาติของประเทศโดมินิกัน​คือ ดอกมะฮอกกานี(Mahogany)

ดอกไม้ประจำชาติโดมินิกัน​ดอกมะฮอกกานี(Mahogany)


   สวัสดีค่ะวันนี้จะพาไปรู้จักกับดอกไม้ประจำชาติโคลัมเบีย​ อย่างที่ทราบกันดีนะค่ะว่าดอกไม้ประจำชาติของโคลัมเบีย นั้นคือก็ดอกมะฮอกกานีไปรู้จักกันเลยค่ะ.

มะฮอกกานี
ชื่อสามัญ:Broad Leaf Mahogany , False Mahogany
ชื่อวิทยาศาสตร์: Swietenia macrophylla King
ชื่อวงศ์ :MELIACEAE
มะฮอกกานีมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศฮอนดูรัส อเมริกากลาง อเมริกาใต้ และหมู่เกาะอินดีสตะวันตก สำหรับประเทศไทยได้นำเข้ามาปลูกเป็นครั้งแรกในจังหวัดสุพรรณบุรีและสามารถพบได้ทุกภาค
มะฮอกกานีเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ความสูงของลำต้นมีประมาณ 15-25 เมตร มีทรงพุ่มรูปทรงกระบอกหรือรูปไข่และทึบ เปลือกของลำต้นหนาขรุขระ เป็นสีน้ำตาลอมเทา มักแตกเป็นร่องและหลุดลอกเป็นสะเก็ด เนื้อไม้จะละเอียด เหนียว และแข็ง มีสีน้ำตาลอมเหลืองหรือแดงเข้ม คุณภาพของเนื้อไม้ใกล้เคียงกับไม้สัก สามารถนำมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ได้หลากหลาย

ลักษณะของใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกแบบเวียนสลับกัน มีใบย่อยรูปไข่หรือรูปรี ออกแบบตรงกันข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อยประมาณ 3-4 คู่ มีความยาวประมาณ 11-17 ซม. กว้างประมาณ 5-6 ซม. ใบมีสีเขียวเข้ม ขอบเรียบ โคนใบมน ปลายใบแหลม ความยาวของก้านใบย่อยยาวประมาณ 0.3-0.5 ซม.
ดอกมะฮอกกานีมักออกเป็นช่อตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองอ่อน หรือสีเหลืองแกมเขียว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยงอย่างละ 5 กลีบ ก้านเกสรตัวผู้มีสีแดง คล้ายแจกัน เชื่อมติดกันอยู่ 10 อัน ส่วนก้านเกสรเพศเมียจะสั้นและที่ยอดเกสรจะแผ่ออกคล้ายร่ม ดอกมะฮอกกานีจะมีความกว้างประมาณ 0.5-1.0 ซม. เมื่อบานเต็มที่แล้ว
ผลมะฮอกกานีมีลักษณะกลมหรือรูปไข่ มีความกว้างประมาณ 7-12 ซม. ยาว 10-16 ซม. เป็นผลเดี่ยวสีน้ำตาล เปลือกผลหนาและแข็ง ปลายผลมนเป็นพูแบบตื้นๆ 5 พู เมื่อผลแก่ก็จะแตกออก ก้านผลแข็ง

ภายในผลของมะฮอกกานี เมื่อแตกออกก็จะมีเมล็ดแห้งสีน้ำตาล ขนาดกว้าง 1.0-1.2 ซม. ยาวประมาณ 5.0-5.5 ซม.อยู่เป็นจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะแบน บาง และมีปีกบางๆ สามารถปลิวไปตามลมได้ เมล็ดมีรสขมมาก
มักนิยมขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ด
ด้วยลักษณะของเนื้อไม้ที่มีความแข็งแรงทนทาน คุณภาพดี ส่วนใหญ่จึงนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องเรือน และเครื่องใช้ต่างๆ และส่วนต่างๆ ของมะฮอกกานียังนำมาใช้ทำเป็นยาสมุนไพรได้อีกด้วย เช่น
-เปลือกต้น ใช้ต้มกินเป็นยาเจริญอาหาร สมานแผล แก้ไข้ ใช้เป็นยาระบาย
-เมล็ด ใช้เป็นยาแก้ไข้จับสั่น ไข้พิษ และปวดศีรษะ
-ใบและดอก สามารถนำมารับประทานเป็นเครื่องเคียงอาหารได้
และต้นมะฮอกกานียังสามารถปลูกไว้เพื่อเป็นร่มเงาได้อย่างดีอีกด้วย
ส่วนมะฮอกกานีอีกชนิดหนึ่ง จะเป็นชนิดที่มีใบเล็ก ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Swietenia mahogany (L.) Jacq. ชื่อสามัญ Dominican Mahogany ชื่อวงศ์ MELIACEAE
มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกาเขตร้อน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นมีสีน้ำตาลเข้มปนดำ ผิวลำต้นละเอียด มีความสูงประมาณ 15-18 เมตร
ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก และยาวประมาณ 5-6ซม. กว้าง 2-2.5ซม. ใบย่อยมีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างของใบมีสีเขียวอ่อน เส้นกลางใบสีน้ำตาลแดง ค่อนข้างหนา
ดอก ดอกมีสีเหลืองอ่อนหรือเหลืองอมเขียว มักออกเป็นช่อยาวประมาณ 10-15 ซม. บริเวณซอกใบหรือปลายกิ่ง ประมาณช่วงเดือนมีนาคม -กรกฎาคม มักจะผลิดอกมาให้เห็น แต่ไม่มีกลิ่นหอม

ลักษณะผลเป็นรูปรีตั้งขึ้น ผลแก่จะมีสีน้ำตาล
มะฮอกกานีชนิดนี้มักเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน มีแสงแดดจัด ดูแลรักษาไม่ยาก สามารถปลูกไว้เพื่อให้ร่มเงา และเป็นไม้ประดับได้ดี เนื้อไม้ก็มีความแข็งแรง ทนทาน สามารถนำมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ได้ดีเช่นกัน

ดอกไม้ประจําชาติ โคลัมเบีย ดอกกล้วยไม้คัทลียา Cattleya Trianae

ดอกไม้ประจำชาติโคลัมเบีย

ดอกกล้วยไม้คัทลียา Cattleya Trianae



      วัสดีค่ะวันนี้จะพาไปรู้จักกับดอกไม้ประจำชาติโคลัมเบีย​ อย่างที่ทราบกันดีนะค่ะว่าดอกไม้ประจำชาติของโคลัมเบีย นั้นคือก็ดอกกล้วยไม้คัทลียาไปรู้จักกันเลยค่ะ.




ประเทศโคลัมเบียมีดอกไม้ประจำชาติคือ ดอกกล้วยไม้คัทลียา Cattleya Trianae ซึ่งได้ปรากฏอยู่บนธงชาติของประเทศด้วย ดอกคัทลียาสัญลักษณ์ของประเทศนี้จะมีกลีบดอกสีม่วงหยักพริ้ว มีเกสรสีเหลือง
กล้วยไม้สกุลนี้มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศที่ค้นพบใหม่
แคทลียา
ชื่อวิทยาศาสตร์Cattleya John Lindley
ชื่อสามัญ Cattleya
คัทลียาเป็นพืชดอกในวงศ์กล้วยไม้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 113 สปีชีส์ มีถิ่นกำเนิดมาจากคอสตาริกา และแพร่กระจายไปสู่อเมริกาเขตร้อน ในปี พ.ศ. 2367 John Lindley ได้ตั้งชื่อดอกไม้ชนิดนี้ตามชื่อของ Sir William Cattley ซึ่งเป็นคนแรกที่ปลูก Cattleya labiata จนมีดอกให้เห็น
ผู้ที่นำกล้วยไม้สกุลคัทลียามาปลูกในประเทศไทยเป็นครั้งแรกคือ นรี อาลาบาศเตอร์ โดยปลูกในพระราชอุทยานสราญรมย์ในสมัยรัชกาลที่ 5
สามารถแบ่งกล้วยไม้ในสกุลนี้ได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน คือ
1. Unifoliate group
กลุ่มนี้จะมีใบเพียง 1 ใบเท่านั้นใน 1 ลำลูกกล้วย มีดอกขนาดใหญ่ กลีบดอกสีม่วง หรือสีชมพูอ่อน
2. Bifoliate group
กลุ่มนี้จะมีมากกว่า 1 ใบใน 1 ลำลูกกล้วย ขนาดดอกค่อนข้างเล็ก ในแต่ละช่อมีดอกประมาณ 5-20 ดอก กลีบดอกเป็นมัน รูปทรงคล้ายหอก มีทั้งสีเหลือง เขียว น้ำตาลเขียว น้ำตาล ส้ม แดงส้ม ขาว ชมพูม่วง กลีบดอกของบางชนิดจะมีจุดสีน้ำตาลหรือม่วงแดงแต้มอยู่ บางชนิดมีกลีบดอกสีเขียวอมน้ำตาลแต่มีปากสีชมพูสด เช่น Cattleya bicolor  ระหว่าง 2 กลุ่มนี้จึงมักนิยมนำมาผสมข้ามพันธุ์กันในปัจจุบัน


ลักษณะทั่วไปของคัทลียา
ลำต้น มักเกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ หรือโขดหิน ลำต้นมีขนาดประมาณ 5-120 ซม. ลำลูกกล้วยจะมีรูปทรงคล้ายท่อนอ้อยหรือกระบอง
ใน 1 ลำลูกกล้วยจะมีใบตั้งแต่ 1-3 ใบ ลักษณะของใบจะแบนหรือเป็นร่อง ผิวใบคล้ายหนัง ปลายใบโค้งมนหรือแหลม เมื่อเจริญไปได้ระยะหนึ่งที่ลำลูกกล้วยจะมีเยื่อบางๆ หุ้มอยู่
ราก มีลักษณะเป็นสีขาวแบบรากกึ่งอากาศ รูปทรงกระบอก ส่วนของปลายรากอาจมีสีเขียว หรือสีเขียวน้ำตาลหุ้มอยู่ ซึ่งรากเหล่านี้จะมีอยู่เป็นจำนวนมาก
ในแต่ละช่อจะมีจำนวนดอกตั้งแต่ 1-15 ดอก มีกลีบดอกชั้นนอก 3 กลีบ ส่วนกลีบดอกชั้นในมีขนาดใหญ่มีอยู่ 2 กลีบ ปากมี 3 ส่วนคือ ปากด้านข้างทั้งสองข้าง (side lobes) และ ปากส่วนกลาง (mid lobe) ส่วนของปากกลุ่มที่เป็น unifoliate จะเชื่อมต่อกัน ในขณะที่ส่วนของปากกลุ่มที่เป็น bifoliate จะมีการคอดเว้า โดยที่ปากด้านข้างทั้งสองและปากส่วนกลางจะแยกกันอย่างชัดเจน ลักษณะของเกสรจะเป็นแท่งยื่นออกมา จำนวน pollinia ในคัทลียาทุกสกุลมีอยู่ 4 อัน โดยที่ในถุงอับเกสรตัวผู้แต่ละอันจะมีอยู่ 2 pollinia ดอกมักมีกลิ่นหอม
การปลูกคัทลียา วัสดุที่ใช้ปลูกควรเป็นวัสดุที่โปร่ง สามารถระบายน้ำได้ดี เช่น อิฐมอญทุบ ถ่าน หรือเปลือกไม้ ไม่แนะนำให้ใช้กาบมะพร้าว แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ก็ควรจับให้อยู่ในแนวตั้ง ภาชนะที่ใช้ปลูกควรเป็นกระถางดินเผาที่มีการเจาะรูด้านข้างด้วย คัทลียาไม่ชอบอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ควรให้ความชื้นที่เหมาะสม และพรางแสงให้ประมาณ 60-70% หากเป็นตอนกลางคืนควรให้อุณหภูมิอยู่ที่ 13 องศาเซลเซียส ส่วนตอนกลางวันอุณหภูมิควรอยู่ที่ 25-28 องศาเซลเซียส ควรเปลี่ยนกระถางและวัสดุปลูกเสียใหม่หลังจากปลูกไปได้ 2-3 ปีแล้ว
ควรใช้หัวสปริงเกิลเพื่อให้น้ำ วันละ 1 ครั้ง ในช่วงเช้าจนชุ่ม แต่อาจให้ซ้ำได้อีกครั้งในช่วงหน้าแล้ง การให้น้ำหลังจากพระอาทิตย์ตกดินแล้วอาจทำให้เกิดโรคเน่าได้ และในช่วงที่ดอกบานไม่ควรให้น้ำโดนดอก
ในระยะแรกที่ปลูกควรให้ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 30-20-10 และให้ใช้ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสอยู่สูงเมื่อต้นเริ่มแข็งแรงดีเพื่อกระตุ้นให้เกิดดอก ในช่วงที่ให้ดอกแล้วควรสลับมาให้ปุ๋ยสูตรเสมอสลับกันบ้าง
แคทลียามักมีแมลงรบกวน เช่นพวก เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ และไรแดง หากมีการระบาดมากก็ควรใช้ยาฉีดพ่นเพื่อกำจัดบ้าง หากมีหอยกัดกินยอดอ่อน ก็ควรขับไล่ด้วยการโรยยาพวกเมทัลดีไฮด์
คัทลียามักเกิดโรคที่พบได้บ่อยคือ
1. โรคเน่าดำ (black rot)
เกิดจากเชื้อรา Phytophthora palmivora มักระบาดในช่วงฤดูฝน จะทำให้ยอดเน่าเป็นสีน้ำตาล หากเกิดกับรากก็จะทำให้เน่าแห้ง ควรใช้ยาพวก อีทริไดอะโซล โฟซีทิล-อลูมิเนียม หรือ แมนโคแซป เพื่อกำจัด
2. โรคเน่า (rot)
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas cattleyae หากปลูกต้นชิดกันเกินไปมักจะเกิดโรคและระบาดได้ง่าย ลักษณะของโรคจะคล้ายกับถูกน้ำร้อนลวก มักเกิดบริเวณใบหรือหน่ออ่อน หากพบใบที่เป็นโรคควรเด็ดออก แล้วเผาทำลายเสีย ควรใช้ยาพวก ไฟโตมัยซิน เพื่อกำจัด
ภายในโรงเรือนที่ปลูกควรมีการดูแลเรื่องการถ่ายเทของอากาศ เพราะวัชพืชและตะไคร่น้ำมักเกิดขึ้นเมื่อมีความชื้นมากเกินไป ซึ่งจะไปขัดขวางการเจริญเติบโตของคัทลียาและอาจทำให้เกิดโรคได้ง่าย หากเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นควรใช้ ไดยูรอน ฉีดพ่น หลังจากให้น้ำจนชุ่มแล้วประมาณ 3-4 ชั่วโมง หลังจากพ่นยาแล้วควรหยุดให้น้ำก่อนประมาณ 2-3 วัน


ที่มา:https://www.vichakaset.com/%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%89%e0%b8%8a%e0%b8%b2%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b9%82%e0%b8%84%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%a1%e0%b9%80%e0%b8%9a%e0%b8%b5%e0%b8%a2/

ดอกไม้ประจำชาติซิมบับเว ดองดึง(flame lily)

ดอกไม้ประจำชาติซิมบับเว 

ดองดึง(flame lily)


    สวัสดีค่ะเราจะมาเเนะนำให้ทุกคนรู้จักกับดอกดองดึงหลายคนคงยังไม่รู้จักงั้นเรามารู้จักไปพร้อมๆกันเลยค่ะ

ดองดึง (flame lily)
ชื่อสามัญ: Climbing Lily, Turk’s cap, Superb Lily, Flame lily, Gloriosa lily
ชื่อวิทยาศาสตร์ :Gloriosa superba L.
ชื่อวงศ์ :Colchicaceae
ชื่ออื่นๆ: ก้ามปู, คมขวาน, บ้องขวาน, หัวขวาน, ดาวดึงส์, ว่านก้ามปู เป็นต้น


      ดองดึงมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนชื้น ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา และหมู่เกาะมาดากัสการ์ มักขึ้นเป็นวัชพืชอยู่ตามชายป่า ที่โล่ง ที่เป็นดินปนทราย แม้แต่ในพื้นที่ที่มีระดับความสูงกว่าน้ำทะเลถึง 2,500 เมตร ก็สามารถขึ้นได้ดี ในประเทศเขตอบอุ่นมักปลูกไว้เป็นไม้ประดับในเรือนกระจก

ดองดึงเป็นไม้เถาล้มลุก มีหัวหรือเหง้าโค้งเป็นทรงกระบอกอยู่ใต้ดิน เป็นพืชที่มีอายุอยู่ได้นานหลายปี เถาของดองดึงมักจะเลื้อยเกาะไปตามต้นไม้อื่น ซึ่งอาจยาวได้ถึง 5 เมตร

ใบ มีลักษณะคล้ายหอก สีเขียวเข้ม ยาวประมาณ 5-15 ซม. ออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับรอบข้อประมาณ 1-3 ใบ ปลายใบแหลม ไม่มีก้านใบ

ดอก มักออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ความยาวของดอกมีประมาณ 6-10 ซม. มีเกสรตัวผู้ 6 อัน ก้านเกสรตัวผู้ยาวประมาณ 3-5 ซม. เกสรตัวเมียแยกเป็น 3 แฉก ยาวประมาณ 0.3-0.7 ซม. มีอับเรณูยาวประมาณ 1 ซม. ส่วนก้านดอกมีความยาวประมาณ 5 ซม. กลีบดอกมักจะบิดเป็นเส้นยาวหยิก ดองดึงอาจมีดอกสีแดงล้วน มีสีแดงเฉพาะด้านบนดอกหรือตามขอบกลีบ และด้านล่างดอกเป็นสีเหลือง หรือสีเหลืองอมเขียว เมื่อดอกบานเต็มที่สีของดอกจะเข้มขึ้นดูสวยสะดุดตา

ผล มีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน มีความยาวประมาณ 5-10 ซม. เมื่อผลแก่ก็จะแตกออก และมีเมล็ดลักษณะกลมสีแดงส้มอยู่เป็นจำนวนมาก
การขยายพันธุ์ วิธีที่นิยมกันทั่วไปคือ การใช้หัว หรือการเพาะด้วยเมล็ด


ดองดึงจะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย สามารถระบายน้ำได้ดี ควรรดน้ำให้มีความชื้นพอปานกลาง ไม่ควรให้ดินแฉะหรือมีน้ำขังเพราะอาจทำให้รากเน่าเสียหายได้ ชอบที่มีแสงแดดจัดหรือร่มรำไร ในช่วงฤดูฝนมักจะให้ดอกดก แต่ก็สามารถมีดอกให้เห็นได้ตลอดทั้งปี

สรรพคุณทางยา
-เหง้า ใช้แก้โรคเรื้อน คุดทะราด บาดแผล และขับผายลม แก้ลมพรรดึก แก้เสมหะ แก้ลมจับโปง รูมาติซั่ม แก้ปวดบวมหัวเข่า
-หัว ใช้ต้มรับประทานแก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ แก้ลมจุกเสียด ฝนทาแก้พิษงู พิษตะขาบ แมลงป่อง ทาแก้โรคผิวหนัง แก้โรคหนองใน

ดองดึง มีสาร colchicines ที่เป็นพิษต่อร่างกายอยู่ในเหง้า จึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง